ประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 ประเด็นที่ 3 ประเด็นที่ 4 ประเด็นที่ 5 ประเด็นที่ 6

การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งกายใจ สติปัญญา สุขภาวะ อารมณ์และสังคม รักสถาบัน หรือเกิดความรักความสามัคคี

ชื่อชุดความรู้

    พลังศักยภาพผู้สูงวัย เรียนรู้ด้วยใจที่เอื้ออาทร เพิ่มคุณภาพชีวิตจากฐานชุมชน

ที่มาความสำคัญของชุดความรู้

        ชุดความรู้นี้ เกิดจากความพยายามในการใช้ฐานด้านชุมชนเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ หมู่บ้านหัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เพื่อส่งเสริมพลังอำนาจในตนของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ เชื่อมั่นในศักยภาพที่มีอยู่ภายในตน แสดงออกมาเป็นพลังที่สร้างสรรค์ โดยใช้กระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการดำเนินการ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นทั้งทางกายและทางใจ

วัตถุประสงค์ชุดความรู้

    1 การพัฒนาและเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
    2 แนวคิดการส่งเสริมรายได้โดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน
    3 ได้แนวทางในการต่อยอดสู่การสร้างโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจในตนของผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน

กลุ่มเป้าหมาย

        ชุมชนหมู่บ้านหัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง และชุมชนที่ต้องการเสริมสร้างพลังอำนาจในตนของผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน

วิธีได้มาซึ่งความรู้

การค้นพบสภาพการณ์จริง
        การเสริมสร้างอำนาจในตนหรือศักยภาพของผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตจากฐานชุมชน ต้องพยายามให้ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้คนในชุมชนเปิดใจ ยอมรับเหตุการณ์ และสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลและช่วงวัย (ร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม) รวมถึงปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน เพื่อทำความเข้าใจข่าวสารที่ถูกต้องร่วมกัน
    
การสะท้อนคิดอย่างมีวิจารณญาณ
        ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้คนในชุมชน ทบทวนเหตุการณ์ สถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อตัดสินใจและจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม โดยแสวงหาทางเลือก เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ นำไปสู่การแก้ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
    
การตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม
        ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้คนในชุมชนตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดีที่สุดร่วมกัน เพื่อควบคุมและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน เรียนรู้ในการแก้ปัญหาจากการใช้ประสบการณ์เดิม หรือการเปิดรับแนวคิดใหม่เชิงสร้างสรรค์ การตระหนักรู้ว่าตนเป็นบุคคลสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลชุมชน
    
การคงไว้ซึ่งการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ
        เมื่อนำวิธีการที่เลือกใช้ไปปฏิบัติแล้วเกิดประสิทธิภาพหรือประสบความสำเร็จ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้คนในชุมชนจะรู้สึกมั่นใจ รู้สึกมีพลังอำนาจ มีความสามารถ และจะคงไว้ซึ่งพฤติกรรมการแก้ปัญหานั้น สำหรับใช้ในเหตุการณ์ครั้งต่อไป

เนื้อหา ความรู้ และระดับทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้

        ปัจจุบัน หมู่บ้านหัวเสือ ยังไม่มีการรวมตัวของผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชนที่เป็นองค์กร/หน่วยงานที่ชัดเจน ชาวบ้านในชุมชนมีการดูแลสุขภาพทางกายและใจโดยดูแลสุขภาพตนเองตามศักยภาพเท่าที่จะทำได้ เช่น การออกกำลังกายให้เหมาะกับสภาพร่างกายของตน การรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตามมีหน่วยงานได้เข้ามาสนับสนุนและให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพแต่ไม่ต่อเนื่อง ชุมชนยังขาดกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันและผู้สูงอายุกับเด็กและเยาวชนที่เป็นรูปธรรม คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตามหลักความสุข 5 มิติ (กรมสุขภาพจิต) ของหมู่บ้านหัวเสือ ตามความคิดเห็นของผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ผู้ดูแลผู้สูงอายุ/นักวิชาการ/ชาวบ้านในชุมชน

ประโยชน์ที่ได้รับ

    
ชุมชน
        ได้องค์ความรู้แนวทางส่งเสริมอำนาจในตนของผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ซึ่งหากผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมในสังคมจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดพลังอำนาจในตน ซึ่งชุมชนสามารถให้การสนับสนุนจากฐานของชุมชนเอง
    
ผู้สูงอายุในชุมชน
        ได้รับการเสริมสร้างพลังอำนาจในตนเอง ก่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถ พึ่งพาดูแลตนเองได้ ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง ตามหลักความสุข 5 มิติ ได้แก่ สุขสบาย (การดูแลสุขภาพทางกาย) สุขสนุก (มีความสุขจากการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์) สุขสง่า (ความพึงพอใจ ภาคภูมิใจและการช่วยเหลือสังคม) สุขสว่าง (การคิดอย่างมีเหตุผล วางแผนแก้ปัญหาร่วมกัน) และสุขสงบ (การควบคุมอารมณ์และจัดการกับอารมณ์ตนเอง)
    
เด็กและเยาวชนในชุมชน
        : เกิดความเข้าใจผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน มีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสำหรับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างช่วงวัย รู้วิธีปฏิบัติตนที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุในชุมชนด้วยความเอื้ออาทร ได้รับการส่งเสริมความรู้ ประสบการณ์และทักษะจากผู้สูงอายุ เพิ่มพูนรายได้จากการเรียนรู้อาชีพและทักษะต่างๆ จากผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการพัฒนาความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและจิตใจ

1 2 3 4 5 6