โครงงานกระถางปลูกรัก รักษ์โลก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลุ่ม ป.3 ก่อการดี

โครงงานกระถางปลูกรัก รักษ์โลก
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลุ่ม ป.3 ก่อการดี

มือเปื้อนดินปั้นโคลนปนใบไม้
ใส่พิมพ์ไว้เป็นกระถางจากมือหนู
ใส่ความรักใส่รอยยิ้ม..เข้ามาดู
กระถางอยู่ในมือน้อย..คอยเมตตา
เด็กน้อยกับกระถางต้นไม้
ที่ใส่ใจทุกขั้นตอนเป็นนักหนา
ผลิตจากใจใช่หวังเพียงเงินตรา
หวังเพียงคืนคุณค่าสู่สังคม

1. การทดสอบระดับความคิด

     พูดคุยประสบการณ์เดิม ความรู้เกี่ยวกับห้วยของนักเรียน ประสบการณ์ในการไปห้วยของนักเรียน สิ่งที่นักเรียนพบเจอ ประโยชน์ของห้วย

2. การสำรวจชุมชนสร้างแรงบันดาลใจ

จากน้ำยกพลขึ้นบก               หลังฝนตกออกสำรวจถิ่นอาศัย
ไม่อาจรู้จะได้เจอกับสิ่งใด               ไปตามใจไปตามฝันตามครรลอง
ไปกับเพื่อนไปด้วยกันฉันกับเธอ               หากว่าเจอสิ่งใดบอกเพื่อนผอง
นี่ปลา หอยปู ดูกระดอง               เสียงกึกก้องร้องเรียกเพื่อนมาดู
เสียงเฮฮาส่งเสียงกลางป่าเขา               เอ้าพวกเราขึ้นบกโน่นประดู่
นี่กระบกต้นนี้ไงเข้ามาดู               เหมือนที่อยู่ในโรงเรียนต้นนั้นไง
แต่ต้นนี้ไม่มีผลหล่นใต้ต้น               หรือมีคนเก็บก่อนเราเอาไปไหน
เราเก็บบ้างพวกเธอว่าอย่างไร               ก็ดีสิเร็วไวช่วยเก็บกัน
เก็บแล้วก็ต้องทุบให้แตกออก               ใช้หินตอกให้เปลือกอ้าอย่าหุนหัน
ไม่ระวังหินทุบมือเจ็บอนันต์               จะโศกศัลย์ลำบากเจ็บนิ้วมือ
เมื่อเมล็ดสีน้ำตาลเผยให้เห็น               เพราะทุบเป็นจึงไม่แตกแหลกนะหรือ
เวลาทุบต้องประมาณน้ำหนักมือ               หากแรงฤๅย่อมไม่เหลือเนื้อให้ชิม
เมื่อได้มาจะทำอะไรดี               กินอย่างนี้อร่อยนะแต่ไม่อิ่ม
อยากจะนำไปทำขนมไว้ลองลิ้ม               ทำไอติมวุ้นเย็นเป็นอย่างไร
ก็ดีนะงั้นลองทำวุ้นกระบก               งั้นฉันยกให้เธอแบ่งงานให้
หาข้อมูลความรู้จากเว็บไซต์               ฉันจะไปเตรียมของเพื่อจะทำ
เธอไปซื้อผงวุ้นที่ร้านค้า               เทียบราคาเรื่องราคาควรถามย้ำ
น้ำตาลด้วยซื้อมานะจะได้ทำ               ส่วนเธอนำพาเพื่อนเพื่อนเก็บอัญชัน
เมื่อพร้อมแล้วพวกเรามารวมตัว               อย่าเมามัวชักช้าอยู่ตรงนั้น
เธอลงมือฉันลงแรงมาช่วยกัน               แกะเปลือกออกแล้วปั่นชิมหน่อยเธอ
รสชาติดี หอมหวาน มันอร่อย               เอ้าถอยหน่อยภูมิใจนำเสนอ
เกลี่ยลงหม้อส่วนผสมได้พบเจอ               เอ้าเพื่อนเกลอช่วยกันคน
หลังจากนั้นยกลงออกจากเตา               ต่างก็เฝ้ารอชิมรสกันสักหน
อร่อยดีแต่รสปะแล่มชอบกล               อย่าตักล้นเดี๋ยวจะล้นออกแม่พิมพ์
ถึงตอนนี้ก็รอให้วุ้นเย็น               ไปเดินเล่นพูดคุยนั่งแย้มยิ้ม
เอ้าเย็นแล้วมาพร้อมกันเพื่อตักชิม               กินจนอิ่มบางคนชอบบอกขอเติม
มีบางคนบอกไม่ชอบไม่อร่อย               กินสดสดทีละน้อยค่อยค่อยเสริม
แกะใส่ปากกินทีละเม็ดอย่างเดิมเดิม               ความคิดเห็นเพิ่มเติมของคนกิน
นำไปแบ่งให้น้องน้องลองชิมบ้าง               ก็แตกต่างความคิดเห็นไม่ตัดสิน
ลางเนื้อชอบลางยาเป็นอาจิณ               เรียนเพื่อรู้อยู่เพื่อกิน...กันต่อไป


3. การวางแผนร่วมกันกับผู้เรียน

               ครูและนักเรียนวางแผนร่วมกันว่าจะทำอะไรต่อไป เพราะในการทำวุ้นกระบก รสชาติไม่เป็นที่พอใจของทุกคน เพราะมีเพียงบางบางคนที่ชื่นชอบ จะปรับปรุงรสชาติและส่วนผสม กระบกซึ่งเป็นวัสดุหลักก็มีอันหมดไปเพราะมีนักเรียนชั้นอื่นมาทุบนำไปกินกันจนหมด ต้นกระนอกโรงเรียนชาวบ้านก็เก็บผลไปทุบขายสร้างรายได้ ทำให้ขลาดแคลนกระบก ส่วนเปลือกก็มีคนมาเก็บไปทำงานประดิษฐ์ ใต้ต้นกระบกจึงเหลือแต่ใบที่ร่วงและก็เป็นภาระให้กับนักเรียนที่จะต้องกวาดและเก็บไปทิ้ง จึงมีเพื่อนนักเรียนในห้องคนหนึ่งเสนอให้นำใบไม้มาทำงานประดิษฐ์ แต่ก็มีเพื่อนอีกคนเสนอแนะว่าใบไม้มีความกรอบและไม่มีความแข็งแรง ไม่เหมาะที่จะนำมาทำงานประดิษฐ์ตกแต่งที่สวยงาม เพื่อนอีกคนจึงนำเสนอการทำกระถางที่มีส่วนผสมของใบไม้เพราะใบไม้ใช้เป็นปุ๋ยได้ เพื่อนทุกคนจึงเห็นด้วย
               จากนั้นจึงได้เริ่มทำโดยการลองผิดลองถูก เช่นครั้งแรกที่ทำนักเรียนนำใบไม้มาขยำแล้วนำมาผสมกับกาว แต่กระถางก็ไม่มีความแข็งแรง เมื่อผลเป็นดังนั้นคนอื่น ๆ จึงคิดนำวัสดุอื่น ๆ มาเป็นส่วนผสม เช่น นำดินจากจอมปลวกมาเป็นส่วนผสม เพราะดินจากจอมปลวกยึดติดกันแน่นและมีแร่ธาตุที่สำคัญ นำกระดาษที่ใช้เขียนทั้งสองหน้ามาขยำเพื่อให้ส่วนผสมยึดติดกันไม่แตกง่าย นำดอกไม้แห้งมาผสมเพื่อให้ดินมีสารอาหารเพื่อให้พืชเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น นำยางไม้มาเป็นส่วนผสมเพื่อให้เนื้อวัสดุผสานกันและมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ไม่แตก และเปื่อยยุ่ย จากนั้นจึงได้กระถางสำหรับปลูกต้นไม้ที่ใช้วัสดุที่หาง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4. การลงมือปฏิบัติ

     ส่วนผสม
          1. ดินจอมปลวก 2. ใบไม้แห้ง/ดอกไม้แห้ง 3. กระดาษรีไซเคิล 4. ยางไม้ 5. น้ำ
     อุปกรณ์
          1. กะละมัง 2. แม่พิมพ์/แก้วน้ำ/กระถาง 3. ขวดน้ำ/ขันน้ำ
     ขั้นตอนการทำ
          1. นำกะละมังมาเป็นภาชนะในการใช้ผสมส่วนต่าง ๆ
          2. นำส่วนผสม มาผสมคนให้เข้ากัน ซึ่งส่วนผสมนำใส่ดังนี้
             2.1. ดินจอมปลวก
             2.2. น้ำ
             2.3. กระดาษรีไซเคิล
             2.4. ใบไม้แห้ง/ดอกไม้แห้ง
             2.5. ยางไม้
          3. คนส่วนผสมให้เข้ากันพอหมาดปั้นเป็นก้อนได้ หลังจากนั้นก็นำไปใส่ในแม่พิมพ์ ปั้นให้ได้ตามรูปทรงที่ต้องการ
          4. นำไปผึ่งแดด เมื่อส่วนผสมจับกันไม่แตก ไม่เปื่อยยุ่ย เคาะออกจากแม่พิมพ์ นำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท
          5. นำมาใส่ดินปลูกต้นไม้/เมล็ดพันธุ์ ตามต้องการ

5. การประเมินตนเอง

          ให้ผู้เรียนประเมินตนเอง ผู้เรียนมีทักษะด้านสารสนเทศ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นทีม และกระบวนการใช้วิจารณญาณอยู่ในระดับใด(ทักษะด้านต่าง ๆ ผู้เรียนและครูสามารถกำหนดร่วมกันว่าต้องการประเมินในเรื่องใดบ้าง) และให้ผู้เรียนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าตนเองต้องการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ดังกล่าวมาในข้างต้นให้อยู่ในระดับใด เมื่อเสร็จสิ้นการทำโครงงานแล้วให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเองอีกครั้งว่าบรรลุตามเป้าหมายที่ตนเองได้ตั้งไว้หรือไม่ และหากบรรลุผลหรือไม่บรรลุผล ผู้เรียนมีสิ่งใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุง หรือพัฒนาให้ดีเพิ่มขึ้นไปได้อีก ทั้งนี้ต้องประกอบกับผลการประเมินของครูร่วมอีกทางหนึ่งด้วย โดยการประเมินแบบใยแมงมุม


6. การต่อยอดองค์ความรู้

          ๑) เน้น ย้ำ ซ้ำ ทวน ชวนคิดต่อยอด โดยการตั้งคำถามเพื่อต่อยอดทางการคิด
          ๒) คำถามระดับสูง เป็นการถามให้คิดค้น หมายถึง คำตอบที่ผู้เรียนตอบต้องใช้ความคิดซับซ้อน เป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาในการคิดหาคำตอบ
             ๒.๑) คำถามชวนคิดสรุปประมวล เป็นการใช้คำถามเมื่อจบบทเรียน เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนได้รับความรู้หรือมีความก้าวหน้าในการเรียนมากน้อยเพียงใด และเป็นการช่วยเน้นย้ำความรู้ที่ได้เรียนไปแล้ว ทำให้สามารถจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างคำถามเช่น
              เมื่อนักเรียนได้ทำกิจกรรมนี้แล้ว นักเรียนได้ข้อคิดอะไรบ้าง
              นักเรียนสามารถนำอะไรมาเป็นส่วนผสมในการทำกระถางรักษ์โลกได้บ้าง
              ถ้าหากกระถางที่ทำแตก ไม่เป็นรูปทรง นักเรียนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
              นักเรียนสามารถกระถางรักษ์โลกในเรื่องใดได้บ้าง
              จงสรุปขั้นตอนการทำกระถางที่นักเรียนได้ลงมือทำ
              จากโครงงานกระถางปลูกรัก รักษ์โลกที่นักเรียนได้ทำมา นักเรียนสามารถนำไปต่อยอดเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ในโรงเรียนชนิดใดได้บ้าง
              จากโครงงานกระถางปลูกรัก รักษ์โลกที่นักเรียนได้ทำมา นักเรียนคิดว่าสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อะไรได้บ้าง

กระถางปลูกรัก      รักษ์โลก
ช่วยเอ๋ยช่วยกัน      เธอกับฉันปลูกต้นไม้ในกระถาง
ปลุกความรักษ์หวงแหนเป็นแนวทาง      เป็นแบบอย่างตัวอย่างในทางดี
นำใบไม้กระดาษของเหลือใช้      รวมกันไว้ช่วยกันขยำและขยี้
ใส่แบบพิมพ์ตากแดดสี่ห้าที      เป็นกระถางใบนี้รักษ์โลกเอย
ป.๓ ก่อการดี โรงเรียนบ้านสามขา