ประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 ประเด็นที่ 3 ประเด็นที่ 4 ประเด็นที่ 5 ประเด็นที่ 6

การเพิ่มรายได้/มูลค่าในการประกอบอาชีพหลัก/รอง กิจกรรมการพัฒนาความรู้ภูมิปัญญาการเพิ่มมูลค่า จาก “เรื่องเล่า” (storytelling)

ชื่อชุดความรู้

    “จากวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ สู่เรื่องเล่าผลิตภัณฑ์ชุมชน”

ที่มาความสำคัญของชุดความรู้

        ชุดความรู้นี้เกิดจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของคนในชุมชนบ้านทุ่งรวงทอง อ.สบปราบ จ.ลำปาง เกี่ยวกับข้อมูลชุมชน วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ และการประกอบอาชีพ ซึ่งการทำนาเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน ปัจจุบันชุมชนบ้านทุ่งรวงทองทำนาปลูกข้าวเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก เมื่อต้องการใช้เงินจะนำข้าวที่มีอยู่ในยุ้งฉางออกมาขาย นำเงินมาใช้จ่ายต่อไป สำหรับขั้นตอนของการทำนาแต่ละขั้นตอนนั้น คนในชุมชนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปลูกข้าวทำนาเป็นอย่างดี เพราะได้เห็นตัวอย่างและลงมือปฏิบัติจริงมาตั้งแต่เริ่มทำนาได้ โดยองค์ความรู้ด้านการปลูกข้าวนี้ได้มาจากบรรพบุรุษ และมีการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงของแต่ละคนในชุมชน มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันผ่านการสนทนากันเองภายในชุมชน และการรับองค์ความรู้ใหม่ๆ จากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาถ่ายทอดให้ ...
        จากการทบทวนความรู้ ความคิดของคนในชุมชนผ่านการสัมภาษณ์ในรูปแบบให้คนในชุมชนเล่าเรื่องราวต่างๆ ของหมู่บ้าน และการทำนาปลูกข้าวแต่ละขั้นตอนทำให้ได้เห็นถึง ชุดความรู้ ความคิด ความเชื่อต่างๆ ของคนในชุมชนต่อการประกอบอาชีพทำนาของตนเอง คนในชุมชนมองว่าความคิด ความเชื่อบางอย่างของตนเองนั้นถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีความแปลกใหม่ เพราะทำสืบเนื่องต่อกันมาจนเป็นวิถีชีวิต เป็นปกติวิสัยของชุมชน จนรายละเอียดในบางความคิด ความเชื่อ ก็เลือนลางไป แต่ทุกๆ ขั้นตอนของการทำนานั้น กลับแฝงไปด้วยความใส่ใจ ความรัก และความผูกพันของชีวิตกับอาชีพการทำนาของคนในชุมชน ทำให้ข้าวของชุมชนนี้เป็น เสมือนสิ่งที่สะท้อนภาพความใส่ใจของชุมชนในการทำนาเพาะปลูกข้าว ให้ได้ผลผลิตที่งอกงามและมีคุณภาพ เมื่อคนในชุมชนได้กลับมาทบทวนถึงวิถีชีวิตนับจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ได้รับรู้ถึงความผูกพันระหว่างชีวิตกับการทำนาปลูกข้าว ส่งผลให้คนในชุมชนใส่ใจในรายละเอียดและขั้นตอนการทำนาปลูกข้าวมากยิ่งขึ้น และหากสามารถดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาแล้วนำเสนอผ่านเรื่องเล่า เพื่อให้เห็นถึงความเป็นมาเป็นไปของข้าวในแต่ละครั้งที่ทำการเพาะปลูก นับเป็นการคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้ปลูกข้าว ไปสู่เมล็ดข้าวอันเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับคนในชุมชน และถือเป็นการอนุรักษณ์และสืบทอดชุดความรู้ ความคิด ความเชื่อในการทำนาปลูกข้าวของชุมชนต่อไปได้

วัตถุประสงค์ชุดความรู้

    1 การให้คนในชุมชนได้ทบทวนวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อของตนที่สัมพันธ์กับอาชีพการทำนา
    2 การเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนด้วยการเรียบเรียงเรื่องเล่าเพื่อใช้ในการถ่ายทอด
    3 ได้เรื่องเล่าของชุมชน เพื่อสร้างเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไป

กลุ่มเป้าหมาย

        ชุมชนบ้านทุ่งรวงทอง อ.สบปราบ จ.ลำปาง และเหมาะกับทุกชุมชนที่มีข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยผลิตภัณฑ์นี้มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ความรู้ ความคิด และความเชื่อของคนในชุมชน

วิธีได้มาซึ่งความรู้

ล้อมวงสนทนา
        เป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชนกับกลุ่มผู้จัดทำโครงการ เพื่อพูดคุยสนทนากันเกี่ยวกับข้อมูลของชุมชน วิถีชีวิตของคนในชุมชน ความรู้ ความคิด ความเชื่อ และการประกอบอาชีพของชุมชน และคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จะนำมาสร้างเรื่องเล่าให้ผลิตภัณฑ์นั้นเกิดความน่าสนใจได้
    
มองคุณค่าสิ่งที่มี
        เป็นการให้คนในชุมชนได้ทบทวนและให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ชื่อของหมู่บ้าน วิถีชีวิต การประกอบอาชีพหลักของคนในชุมชน ซึ่งสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นั่นก็คือ การทำนา โดยการทำนาแต่ละขั้นตอนจะปรากฏความรู้ ความคิด ความเชื่อ และภูมิปัญญาของคนในชุมชนไว้ การที่คนในชุมชนกลับมาทบทวนถึงวิถีชีวิตนับจากอดีตมาถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างชีวิตกับการทำนาปลูกข้าว โดยแต่ละครั้งของการทำนาเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวอันจะเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่อไป ล้วนมาจากการเห็นคุณค่าของข้าว ซึ่งคนในชุมชนสะท้อนการให้คุณค่าของข้าวผ่านการปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ ของการปลูกข้าวนั่นเอง
    
ร้อยเรียงถ้อยวจีเป็นเรื่องเล่า
        จากการเล่าขานถึงรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ประวัติหมู่บ้าน วิถีชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงวิธีการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาของคนในชุมชนในเรื่องของการทำนาปลูกข้าว นำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องเล่าเพื่อถ่ายทอดความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของการปลูกข้าวเพื่อสร้างชีวิต และการมีชีวิตเพื่อปลูกข้าวของผู้คนในชุมชน

เนื้อหา ความรู้ และระดับทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้

        การสัมภาษณ์เพื่อให้คนในชุมชนได้นึกทวนย้อนถึงตัวตน วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ต่างๆ ของตนเองผ่านการถ่ายทอดเรื่องราว นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่ทำให้คนในชุมชนได้นึกย้อนถึงเรื่องเล่า และภาพความทรงจำของตนเองเกี่ยวกับชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ และเรื่องราวต่างๆ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาและจะเป็นไปของชุมชนต่อไป ...ชุมชนบ้านทุ่งรวงทอง อ.สบปราบ จ.ลำปาง เป็นชุมชนที่ตั้งมานานแล้ว เดิมมีเพียงหมู่บ้านเดียว คือบ้านทุ่ง ภายหลังได้แบ่งหมู่บ้านเป็น 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทุ่ง บ้านทุ่งเจริญ บ้านทุ่งรวงทอง และบ้านทุ่งพัฒนา โดยชื่อบ้านทุ่งรวงทองนี้เปลี่ยนมาใช้เป็นเวลา 16 ปี 8 เดือน มาแล้ว ที่มาของชื่อหมู่บ้านทุ่งรวงทองมาจาก ทางเข้าหมู่บ้านเต็มไปด้วยทุ่งนาทั้งสองข้างทาง เมื่อเวลาที่ข้าวสุกจะทีสีเหลืองทองอร่ามตา คนในชุมชนจึงร่วมกันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ทุ่งรวงทอง” และก่อนจะมาเป็นชื่อทุ่งรวงทอง เดิมมีชื่อว่าทุ่งเศรษฐีมาก่อน เป็นชื่อที่ตั้งโดยอดีตผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง การประกอบอาชีพหลักของคนในชุมชน คือ การทำนาปลูกข้าว คนในชุมชนใช้หลักของความพอเพียงในการดำเนินชีวิต การทำนาปลูกข้าวในแต่ละปีเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนอย่างเพียงพอเสียก่อน ผลผลิตที่เหลือจากนั้นจะค่อยๆ ทยอยขายเพื่อแลกเป็นเงินนำมาใช้จ่ายในยามจำเป็น จะไม่ขายจนหมดในครั้งเดียว สำหรับขั้นตอนการทำนาปลูกข้าวนั้น คนในชุมชนมีความเชี่ยวชาญในกระบวนการต่างๆ เป็นอย่างดี องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำนาได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษผ่านการบอกเล่า และการให้ลงมือปฏิบัติจริง คนในชุมชนจึงสามารถทำนาปลูกข้าวได้ตั้งแต่ที่เริ่มทำนา อายุเฉลี่ยของคนในชุมชนที่เริ่มทำนา คือ 11-12 ปี เมื่อออกจากโรงเรียนก็เริ่มช่วยครอบครัวทำนาปลูกมาโดยตลอด

ประโยชน์ที่ได้รับ

    (ผู้รับความรู้จะทำอะไรเป็น หรือประยุกต์ใช้งานอะไรและได้ในระดับใด เพื่อการเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย)
     1 คนในชุมชนได้ทบทวนวิถีชีวิต ความรู้ ความคิด และความเชื่อ ที่สัมพันธ์กับการทำนาปลูกข้าว
     2 คนในชุมชนเห็นคุณค่าและความสำคัญของตนเอง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการทำนาปลูกข้าว
     3 หากนึกย้อนถึงพิธีกรรมอื่นใดที่สัมพันธ์กับการทำนาปลูกข้าวได้แล้ว คนในชุมชนจะได้รื้อฟื้นพิธีกรรม เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไป
     4 คนในชุมชนมีทักษะในการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านการบอกจุดเด่น และสิ่งที่น่าสนใจของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ในรูปแบบของเรื่องเล่า
     5 สร้างอัตลักษณ์ให้แก่ชุมชนให้เป็นรูปธรรม ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ชุมชน

1 2 3 4 5 6