วัตถุดิบหลักและขั้นตอนการทำข้าวแคบ “ควินัว”

วัตถุดิบหลักและขั้นตอนการทำข้าวแคบ “ควินัว”

วัตถุดิบหลัก

๑. ข้าวสาร(ข้าวเหนียว) / ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำข้าวแคบ โดยข้าวแต่ละชนิดจะมีการให้สีที่แตกต่างกันไป โดยข้าวสาร(ข้าวเหนียว) ให้สีขาวแก่แผ่นแป้ง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้สีม่วงเข้มแก่แผ่นแป้งข้าวแคบ
๒. เกลือ ใช้สำหรับปรุงรส
๓. ใบเตย ใช้เพื่อให้ได้แผ่นแป้งสีเขียว
๔. เมล็ดธัญพืช ใช้เป็น ควินัว เมล็ดธัญพืชชนิดหนึ่งประเภทเดียวกับพืชตระกูลข้าว ซึ่งควินัวกำลังเป็นที่นิยมรับประทานกันในกลุ่มของผู้รักสุขภาพ เพราะจัดเป็นเมล็ดธัญพืชที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงและมีประโยชน์อื่น ๆ ต่อร่างกายอีกมาก
๕. น้ำสะอาด
____________________________________________________

    ขั้นตอนการทำข้าวแคบ “ควินัว”

วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

๑. เครื่องโม่ข้าว
๒. ผ้าซับในแบบหนา
๓. หม้อ
๔. ไม้พายช้อนแป้งข้าวแคบ
๕. ทัพพีทรงกลมเพื่อตักและละเลงน้ำแป้งข้าวแคบ
๖. ที่ตากแผ่นแป้งข้าวแคบทำจากหญ้าคามัดเรียงติดกันเป็นตับเหมือนแผ่นหลังคาหญ้าคา
๗. เตาแก๊สสำหรับตั้งหม้อนึ่งทำแผ่นข้าวแคบ
๘. สก็อตไบร์ท

วิธีการทำ

    ขั้นตอนการเตรียมเตา
        เตรียมเตาเพื่อวางหม้อนึ่งในการทำข้าวแคบ โดยการตั้งหม้อต้มน้ำสะอาดบนเตาแก๊ส เปิดแก๊สเพื่อต้มน้ำในหม้อให้เดือดด้วยไฟความร้อนระดับสูง
    ขั้นตอนการเตรียมหม้อนึ่ง
        ใส่น้ำสะอาดลงไปในหม้อนึ่ง แล้วใช้ผ้าซับในแบบหนามาคลุมปากหม้อ จากนั้นใช้ไม้ไผ่(ไม้รวก) มาทำเป็นวงแหวนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับปากหม้อนึ่ง นำไม้ไผ่ (ไม้รวก) ไปรัดขอบหม้อเพื่อทับผ้าซับในที่ขึงตรงปากหม้อนึ่งไว้ แล้วดึงผ้าให้ตึง วิธีการสังเกตว่าหม้อนึ่งมีความร้อนพอที่จะเริ่มละเลงแป้งข้าวแคบแล้วหรือไม่ ให้ดูที่ผ้าตรงปากหม้อนึ่งหากความร้อนของน้ำในหม้อนึ่งพอดีแล้ว ผ้าจะตึงและเด้งตัวผ้าขึ้นมา และมีควันไอร้อนลอยสูงขึ้นตรงปากหม้อ
    ขั้นตอนการเตรียมแป้ง
        ๑. น้ำข้าวสาร (ข้าวเหนียว) หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ไปแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ ๑ คืน แล้วน้ำข้าวสารมาล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ รอบจนน้ำล้างข้าวใส
        ๒. นำข้าวสารที่ล้างจนสะอาดมาใส่เครื่องโม่ข้าว ระหว่างการโม่ข้าวจะทยอยเติมน้ำไปทีละนิด
        ๓. นำน้ำแป้งที่ได้จากการโม่มาผสมเกลือป่นและเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ ตามต้องการ แล้วคนให้เข้ากันสามารถเติมน้ำสะอาดเพิ่มเติมลงไปเรื่อย ๆ ได้ หากต้องการสีเขียวก็ให้เติมน้ำใบเตย โดยจะต้องค่อย ๆ เติมน้ำทีละนิดพร้อมกับคนน้ำแป้งไปเรื่อย ๆ สังเกตลักษณะของน้ำแป้งข้าวแคบว่าเริ่มมีความหนืดขึ้น ไม่หยดทีละหยด หรือหนืดมากจนหยดช้าเกินไป โดยน้ำแป้งข้าวแคบที่เหมาะสมจะสามารถหยดลงมาเป็นสายอย่างต่อเนื่องได้

ขั้นตอนในการทำ

ขั้นเตรียมข้าวกล้องงอก

         ๑. เมื่อผ้าตรงปากหม้อนึ่งมีความร้อนพร้อมทำแป้งข้าวแคบแล้ว ให้นำสก็อตไบร์ทชุบน้ำบิดหมาดมาเช็ดผ้าหน้าปากหม้อนึ่ง เตรียมผ้าให้สะอาดและชื้นเพื่อไม่ให้แป้งติดหน้าผ้า
         ๒. ใช้ทัพพีทรงกลมตักน้ำแป้งข้าวที่ผสมส่วนประกอบทุกอย่างเตรียมไว้แล้ว เทลงบนผ้าตรงปากหม้อนึ่งใช้ก้นของทัพพีละเลงน้ำแป้งให้เป็นแผ่นลักษณะวงกลม ขนาดเล็กใหญ่ตามที่ต้องการ
         ๓. ละเลงน้ำแป้งเรียงกันเป็นแถวรอบปากหม้อนึ่ง แผ่นแป้งจะเริ่มทยอยสุก วิธีการสังเกตว่าแผ่นแป้งสุกหรือไม่ ให้สังเกตว่าแผ่นแป้งจะเริ่มมีความหนาขึ้น จากน้ำแป้งขาวใส กลายเป็นแผ่นแป้งขาวหนาขึ้น ตรงขอบของแผ่นแป้งจะเริ่มเด้งขึ้น ให้ลองเอาไม้พายขนาดเล็กสอดใต้แผ่นแป้ง แซะแล้วม้วนริมขอบแผ่นแป้งแล้วลอกออกจากผ้า หากแผ่นแป้งสุกจริงจะสามารถลอกแผ่นแป้งออกมาเป็นแผ่นโดยไม่ฉีกขาดได้
         ๔. นำแผ่นแป้งที่สุกแล้วไปวางบนที่ตากแผ่นแป้งซึ่งทำจากหญ้าคา เมื่อลอกแผ่นแป้งออกจากผ้าตรงปากหม้อนึ่งได้แล้ว ให้นำมาวางโดยพลิกหงายเอาแผ่นแป้งด้านที่แนบกับผ้าขึ้น เมื่อแผ่นแป้งข้าวแคบแห้งสนิทแล้วจะยกตัวดีดขึ้นมาจากหญ้าคาโดยง่าย หากวางกลับด้านเมื่อแผ่นแป้งแห้งจะไม่สามารถเอาออกจากที่ตากได้ ทำให้แผ่นแป้งแผ่นนั้นเสียหายไปเลย
         ๕. วิธีการรับประทาน คือ นำแผ่นแป้งข้าวแคบที่ตากแห้งแล้วไปปิ้งหรือทอด ให้สุกอีกครั้งหนึ่ง แล้วรับประมานได้เลย
_____________________________________________________________________________
**เคล็ดไม่ลับฉบับแม่มาลี**
         • ที่ตากแผ่นข้าวแคบ ควรใช้หญ้าคาในการทำ เนื่องจากถ้าใช้วัสดุอย่างอื่นจะทำให้แผ่นแป้งข้าวแคบติดที่ตาก และไม่สามารถแซะออกจากที่ตากได้โดยง่าย
         • เกลือที่ใช้ควรเป็นเกลือตรามือถือคบเพลิงเท่านั้น เนื่องจากความเค็มที่กำลังพอดี
         • วิธีการทอดให้ได้แผ่นข้าวแคบที่สวยงาม ต้องเอาแผ่นแป้งข้าวแคบด้านบนคว่ำหน้าลงใส่น้ำมันที่ร้อน แผ่นข้าวแคบจะขึ้นฟูสวยงาม
         • คติความเชื่อ: เมื่อแผ่นแป้งแผ่นที่ ๑ สุกแล้ว แม่มาลีจะนำไปวางตรงหัวของเตาแก๊ส เพื่อเป็นการถวายของแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการขอบคุณไฟ ขอบคุณเครื่องมือในการทำมาหากิน และขอพรให้การทำครั้งนี้สำเร็จผลด้วยดีไปพร้อม ๆ กันด้วย สำหรับแผ่นที่ ๒ นั้น แม่มาลีจะนำไปถวายยังศาลเจ้าที่ของบ้าน เพื่อแสดงความเคารพและขอพรด้วยเช่นเดียวกัน
         • แผ่นแป้งข้าวแคบที่แห้งแล้ว แต่ยังไม่ได้ปิ้งหรือทอดจะสามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ ๑ ปี เก็บในที่ที่มีอุณหภูมิปกติได้
_____________________________________________________________________________