ชื่องานวิจัย : |
การพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และแนวทางการประเมินเพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร The Development of Learning Environment and Assessment Guidelines to Support ICT Literacy Skill |
ประเภทวิจัย : |
วิจัยองค์ความรู้ |
ปีงบประมาณ : |
2559 |
ประเภททุน : |
ทุนภายใน |
แหล่งทุน : |
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง |
งบประมาณ : |
60,000.00 บาท |
เลขที่สัญญาทุน : |
022/2559 |
สถานะ : |
ส่งเล่มสมบูรณ์ |
หัวหน้าวิจัย : |
จุติมา เมทนีธร |
สังกัด : |
สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ |
ข้อมูลติดต่อ : |
|
ผู้ร่วมวิจัย : |
วิยดา เหล่มตระกูล
|
บทคัดย่อ : |
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ออกแบบสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของผู้เรียน และ 2) พัฒนาแนวทางการประเมินทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของผู้เรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบประเมินความสอดคล้องระหว่างแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และแนวทางการประเมินเพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศกับองค์ประกอบของการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สำหรับผู้เชี่ยวชาญ) 2) แบบถอดบทเรียนจากกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (After Action Review : AAR) และ 3) แบบสรุปการวางแผนและดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กลุ่มเป้าหมายของการวิจัย ได้แก่ ครูผู้สอนในระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนใน จ. ลำปาง จำนวน 10 คน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจงจากครูที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. การออกแบบและพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และแนวทางการประเมินเพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของผู้เรียนนั้น คณะผู้วิจัยได้ใช้แนวคิดการออกแบบและพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และแนวทางการประเมินแยกตามองค์ประกอบของการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ETS, 2006) โดยสามารถแบ่งองค์ประกอบออกได้เป็น 7 ส่วน ได้แก่ ระบุ (define) เข้าถึง (access) จัดการ (manage) บูรณาการ (integrate) ประเมิน (evaluate) สร้าง (create) และสื่อสาร (communicate) ซึ่งผลจากการประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าว ทำให้เกิดการสร้างแนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และแนวทางการประเมินเพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับร่าง) ขึ้น โดย (ร่าง) แนวทาง ฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นส่วนที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการวิจัย ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของการทบทวนงานวรรณกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย ส่วนที่ 3 เป็นแนวทางการออกแบบและพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และส่วนที่ 4 เป็นแนวทางการประเมินเพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยในส่วนที่ 3 และ 4 นี้ได้อธิบายแนวทางการออกแบบและพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และแนวทางการประเมินแยกตามองค์ประกอบของทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั้ง 7 องค์ประกอบ และสำหรับแนวทางการประเมิน ฯ ได้ใช้แนวคิดของการประเมินเพื่อการเรียนรู้ (assessment for learning) ร่วมด้วย ซึ่งได้กำหนดเป็นเกณฑ์ระดับคุณภาพเพื่อประเมินให้สอดคล้องกับองค์ประกอบของทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดังกล่าว (ร่าง) แนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และแนวทางการประเมินเพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ถูกตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 3 ท่าน ซึ่งผลการตรวจสอบ พบว่า แนวทางที่สามารถใช้ในการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความสอดคล้องกับแต่ละองค์ประกอบของการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านเสนอแนะให้ปรับข้อความในบางจุดให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งคณะผู้วิจัยก็ได้ดำเนินการปรับข้อความที่ปรากฏใน (ร่าง) แนวทาง ฯ ตามคำแนะนำดังกล่าว
2. ผลที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะนักวิจัยและครูกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับการนำแนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และแนวทางการประเมินเพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปใช้กับการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน พบว่า ครูกลุ่มเป้าหมายได้นำ (ร่าง) แนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และแนวทางการประเมินเพื่อส่งเสริมทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปใช้ในชั้นเรียนโดยบูรณาการกับแผนการสอนในวิชาที่รับผิดชอบ และปรากฏออกมาในรูปแบบของกิจกรรม / การผลิตชิ้นงาน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน คือ นักเรียนมีทักษะการใช้เครื่องมือไอซีทีเพิ่มมากขึ้น สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลายได้มากขึ้น มีวิจารณญาณในการคัดกรองแหล่งข้อมูลที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น มีความสามารถในการจัดเก็บสารสนเทศอย่างเป็นระบบ และมีความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์สารสนเทศเพื่อการสื่อสารหรือเผยแพร่เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ นักเรียนยังมีความสนุกสนานกับการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น และมีความสนใจในเนื้อหาวิชาเพิ่มมากขึ้นด้วย ในส่วนของครูผู้วิจัยเองก็ได้พัฒนาในเรื่องของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการเครื่องมือไอซีทีรวมถึงจัดการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีแนวทางการประเมินชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีที่ชัดเจนขึ้นด้วยทำให้ร่องรอยของการให้คะแนนชิ้นงานของนักเรียนเป็นไปโดยละเอียดและสามารถเป็นตัวอย่างให้กับครูผู้สอนท่านอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนำไปประยุกต์ใช้ได้ นอกจากนี้ ยังได้รับข้อเสนอแนะและการส่งเสริมให้เขียนบทความวิจัยจากงานวิจัยในชั้นเรียนเพื่อนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติอีกด้วย
คำสำคัญ: ทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, สภาพแวดล้อมการเรียนรู้, แนวทางการประเมิน |
หมายเหตุ : |
|
|
|