เรื่องราวก่องข้าวภูมิปัญญาคุณป้ากาบแก้ว และคุณลุงสุรีย์ เทพสิงห์


เรื่องราวก่องข้าวภูมิปัญญาคุณป้ากาบแก้วและคุณลุงสุรีย์ เทพสิงห์

            คุณป้ากาบแก้ว และคุณลุงสุรีย์ รำลึกเรื่องราวสมัยก่อน การสานข้าวก่องทำเป็นแทบทุกครัวเรือนไม่ต้องซื้อขาย ต่างทำไว้ใช้กันเอง โดยรูปแบบก่องข้าวก็เป็นทรงสี่เหลี่ยมธรรมดา แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่เลิกทำ จึงทำให้หลังๆมีการซื้อขายมาใช้ ทำให้การสานก่องข้าวใบตาลสามารถสร้างรายได้เสริมเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ โดยจะออกไปหาใบตาลตามทุ่งนาในหมู่บ้านที่มีตามธรรมชาติอยู่แล้วมาสานก่องข้าวขาย ให้กับคนในหมู่บ้าน ร้านอาหาร และคนต่างถิ่น สำหรับเทคนิคสำคัญในการสานก่องข้าว คุณป้ากาบแก้วเล่าว่า ก่อนที่จะสานก่องข้าว ต้องนำใบตาลไปชุบน้ำให้ชุ่มชื้นก่อนเพื่อให้สานง่าย ใบไม่แตกหักระหว่างสาน และหากน้ำแห้งก็ต้องคอยพรมน้ำไว้ตลอดจนกว่าจะสานเสร็จ จากนั้นจึงนำไปตากแดดจึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการ การสานก่องข้าวจากใบตาล ได้สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวคุณป้ากาบแก้ว โดยคุณป้ากาบแก้วได้ใช้เวลาว่างจากการทำนา และรับจ้างทั่วไป มาสานก่องข้าว โดยจะมีคนต่างถิ่นมารับซื้อราคาส่งลูกละ 10 บาท เพื่อนำไปขายปลีก หรือใช้ในร้านอาหาร และคนในหมู๋บ้านก็ซื้อไปใช้ใส่ข้าวด้วย เรียกได้ว่าถ้าสานเรื่อยๆก็ขายได้เรื่อยๆ การสานก่องข่าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณป้ากาบแก้ว และคุณลุงสุรีย์ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงสร้างอาชีพ แต่ยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับคุณป้ากาบแก้ว และคุณลุงสุรีย์ด้วย เพราะในวันนี้คุณป้ากาบแก้ว และคุณลุงสุรีย์ ได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้สู่รุ่นลูกหลาน ซึ่งเป็นเยาวชนในโรงเรียนชุมชนบ้านทุ่ง โดยทางโรงเรียนได้เชิญไปสร้างการเรียนรู้เรื่องราวภูมิปัญญาการสานก่องข้าวร่วมกับหลานๆนักเรียนในโรงเรียน โดยคุณป้ากาบแก้ว และคุณลุงสุรีย์ ได้ทำหน้าที่นี้มากว่า 2 ปีแล้ว และยังคงอยากจะทำหน้าที่นี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สืบสานภูมิปัญญาไทยที่แสดงถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและงดงามไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

_____________________________________________________________________________
ถอดบทเรียนและเรียบเรียง : ฟิสิกส์ ฌอณ บัวกนก, พงศ์วัชร ฟองกันทา, เกษตร วงศ์อุปราช, บุษราคัม อินทสุก,อภิรดี จีนคร้าม, สุวรรณี เครือพึ่ง, ธิดารัตน์ ผมงาม, ณฤติยา เพ็งศรี, พรชนนี ภูมิไชยา