ก่องข้าวจากใบตาล สร้างงาน
สร้างรายได้

“ก่องข้าว” คือภาชนะใส่ข้าวเหนียวนึ่งของชาวภาคเหนือ ซึ่งในภาคอีสานจะเรียกว่ากระติ๊บข้าว ส่วนภาคกลางจะเรียกว่าก่องใส่ข้าวเหนียว ก่องข้าวบ้านทุ่งรวงทอง เป็นงานภูมิปัญญาจักสานที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเพียงอย่างเดียว คือ ใบตาล บวกกับ ความสามารถด้านการสาน สอดๆ ดึงๆ เพื่อให้ยึดติดกันโดยไม่ต้องอาศัยวัสดุอื่น อาทิ กาว ค้อน ตะปู จนใบตาลกลายเป็นภาชนะใส่ข้าวนึ่งได้ เป็นของใช้ประจำบ้านที่นิยมตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากราคาไม่แพง น้ำหนักเบา ระบายอากาศและไอน้ำได้ดี ทำให้ข้าวเหนียวไม่แฉะ และมีอายุการใช้งานที่คุ้มค่ากับราคา คือ หากใช้งานทุกวันจะสามารถใช้ได้นานถึง 2-3 เดือน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เก็บเมล็ดพันธ์พืช เก็บของชิ้นเล็ก ๆ หรือนำมาประดับตกแต่งบ้านได้อีกด้วย คุณป้ากาบแก้ว และคุณลุงสุรีย์ เทพสิงห์ แห่งบ้านทุ่งรวงทอง หมู่ที่12 ตำบลสบปราบ คือคลังปัญญาสำคัญที่ทำหน้าที่สืบสานการทำก่องข้าวเหนียวนึ่งไม่ให้หายไปจากสังคมล้านนา ตำบลสบปราบ จังหวัดลำปาง ทั้งๆที่อยู่ในยุคของแห่งเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาภาชนะทดแทนสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งแทนก่องข้าวมากมาย

โครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนฐานราก ในสถานการณ์โควิด19
ตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง

ก่องข้าวจากใบตาล สร้างงาน สร้างรายได้

เรื่องราวก่องข้าวภูมิปัญญาคุณป้ากาบแก้ว
และคุณลุงสุรีย์ เทพสิงห์

คุณป้ากาบแก้ว และคุณลุงสุรีย์ รำลึกเรื่องราวสมัยก่อน การสานข้าวก่องทำเป็นแทบทุกครัวเรือนไม่ต้องซื้อขาย ต่างทำไว้ใช้กันเอง โดยรูปแบบก่องข้าวก็เป็นทรงสี่เหลี่ยมธรรมดา แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่เลิกทำ จึงทำให้หลังๆมีการซื้อขายมาใช้ ทำให้การสานก่องข้าวใบตาลสามารถสร้างรายได้เสริมเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ โดยจะออกไปหาใบตาลตามทุ่งนาในหมู่บ้านที่มีตามธรรมชาติอยู่แล้วมาสานก่องข้าวขาย ให้กับคนในหมู่บ้าน ร้านอาหาร และคนต่างถิ่น สำหรับเทคนิคสำคัญในการสานก่องข้าว คุณป้ากาบแก้วเล่าว่า ก่อนที่จะสานก่องข้าว ต้องนำใบตาลไปชุบน้ำให้ชุ่มชื้นก่อนเพื่อให้สานง่าย ใบไม่แตกหักระหว่างสาน และหากน้ำแห้งก็ต้องคอยพรมน้ำไว้ตลอดจนกว่าจะสานเสร็จ จากนั้นจึงนำไปตากแดดจึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการ...

Read More

ขั้นตอนการสานก่องข้าว และเคล็ดลับการสาน

            1. ใช้ใบตาลแก่ แต่ถ้าใช้ใบตาลอ่อนจะได้ก่องข้าวสีขาว
            2. ตัดใบตาลมา แล้วนำไปตาลไปตากแดดครึ่งวัน
            3. จากนั้น ริดส่วนใบออกจากก้านกลาง เพื่อนำส่วนใบไปใช้สาน
            4. ขนาดใบตาล หากสานก่องข้าวขนาดเล็ก ใบตาลควรมีขนาดประมาณ 3 cm และสำหรับก่องข้าวขนาดใหญ่ ใบตาลควรมีขนาดประมาณ 5 cm
            5. นำใบตาลไปตัดให้ตรงเท่ากันตลอดทั้งเส้น ด้วยเครื่องตัด จะเรียกว่า พิมพ์ใบตาล
            6. เอาผ้าชุบน้ำห่อใบตาลเพื่อไม่ให้ใบตาลแห้ง หากใบตาลแห้ง จะทำให้ใบตาลแตกขณะสานก่องข้าว
            7. ก่องข้าว หากใช้งานทุกวันจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1-2 เดือน และสีก่องจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ
            8. การสานจะใช้ใบตาลทั้งจำนวน 24 เส้น (12 เส้นสำหรับสานฝา และ 12 เส้นสำหรับสานท้องก่องข้าว)
            9. ก่อนเริ่มต้นสานจะต้องเรียงใบตาลโดยเอาปลายอ่อนไว้ด้วยกันและปลายแข็งไว้ด้วยกัน หรือจะสลับอ่อนและแข็งก็ได้
            10. ขณะสานหากใบตาลแห้ง ให้พรมน้ำ ปัจจุบันใช้ฟ๊อกกี้ฉีดน้ำ(foggy) ฉีดเพื่อให้ใบชุ่มชื้นตลอดการสาน
            11. หลังจากเรียงใบตาลแล้ว ให้นำตอกมายึดฐานก่องข้าว ก่อนจะเริ่มสาน
            12. จะสานฝาก่อง ให้มีความสูง 2 ตา และ ท้อง 3 ตา
            13. เมื่อสานฝาครบ 2 ตาแล้วจะพับใบตาลลงและสอด สานต่อจนใบตาลหมด
            14. ขณะสานถ้าใบตาลเริ่มแห้ง ให้พรมน้ำก่อน แล้วจึงสานต่อได้
            15. แต่หากฉีดน้ำมากเกินไปจะทำให้ใบตาลเปลี่ยนสี คือ สีจะเข้มขึ้น
            16. ขณะสานหากใบตาลใหญ่ ไม่สามารถสอด สานได้ ให้ใช้กรรไกรตกแต่งให้เล็กพอที่จะสามารถสอดสานได้ แต่จะใช้มีดตัดจบหรือเหลือใบตาลน้อยไม่พอจะสอดสาน
            17. การบอกจนาดก่องข้าวจะนับจุก คือ 6 จุก สำหรับก่องข้าวขนาดเล็ก 8 จุกสำหรับก่องข้าวขนาดกลาง
            18. ราคาขายก่องข้าวขนาดเล็ก 10-15 บาท