ประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 ประเด็นที่ 3 ประเด็นที่ 4 ประเด็นที่ 5 ประเด็นที่ 6

การลดต้นทุนในการประกอบอาชีพหลัก/รอง กิจกรรมการพัฒนาความรู้ภูมิปัญญาทางบัญชี สู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพ

ชื่อชุดความรู้

    การพัฒนาความรู้ภูมิปัญญาทางบัญชี สู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพหลัก/รอง

ที่มาความสำคัญของชุดความรู้

        การพัฒนาความรู้ภูมิปัญญาทางบัญชี สู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพหลัก/รองเป็น 1 ใน 6 ชุดความรู้ของโครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนฐานราก คณะครุศาสตร์ จัดขึ้นภายใต้โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในเขตพื้นที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เพื่อส่งเสริมคนในชุมชนให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้/มูลค่า ในการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ในครัวเรือนหรือชุมชน จากฐานรากทรัพยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญาและความต้องการ รวมถึงจากองค์ความรู้ของงานวิจัยและนวัตกรรม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งกายใจ สติปัญญา สุขภาวะ อารมณ์และสังคม รักสถาบันหรือเกิดความสามัคคี
        ชุดความรู้นี้มีความสำคัญในด้านความตระหนักเชิงรูปธรรมต่อการใช้จ่ายของตนเองหรือของครัวเรือน เพื่อทำให้ผู้ประกอบอาชีพเห็นภาพรวมในรายรับรายจ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญต่อการคิดวิเคราะห์ต้นทุน กำไร หรือใช้ประกอบในการวางแผนการประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นลักษณะการจัดกิจกรรมจึงมุ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนากระบวนการเรียนรู้บัญชีต้นทุนอาชีพ และบัญชีรับ – จ่าย ในครัวเรือน มีกิจกรรมการสอนและแนะนำให้ความรู้ในการทำบัญชีแก่ชุมชนเป้าหมาย การสร้างอาสาสมัครทางบัญชี (ครูบัญชีอาสา) เป็นเครือข่ายในแนะนำการทำบัญชีให้แก่ชุมชนเป้าหมาย ตลอดจนการติดตามการทำบัญชีกับผู้เข้า อบรมอย่างต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์ชุดความรู้

3.1 ศึกษาความปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนเกี่ยวกับภูมิปัญญาทางบัญชี สู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพหลัก/รอง บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
3.2 จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ภูมิปัญญาทางบัญชี สู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพหลัก/รอง บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
3.3 ประเมินผลการเสริมสร้างความรู้ภูมิปัญญาทางบัญชี สู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพหลัก/รอง บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

กลุ่มเป้าหมาย

        บุคคลในชุมชนบ้านหัวเสือ ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง และบุคคลที่มีความสนใจเกี่ยวกับความรู้ภูมิปัญญาทางบัญชี สู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพหลัก/รอง บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

วิธีได้มาซึ่งความรู้

    (เขียนเป็นขั้นตอนการดำเนินงานที่เมื่อผู้อ่านสามารถนำไปทำตามได้ในพื้นที่ของตน ไม่ต้องยึดตามการลงพื้นที่ที่เราลง แต่ยึดขั้นตอนการได้มูลเพื่อนำไปสู่ผลผลิต)     
ระยะที่ 1 (ต้นน้ำ)
        เชิญชวนผู้มีความรู้ความสามารถเป็นทีมวิทยากร จากนั้นศึกษาปัญหาและความต้องการที่แท้จริง (need) ของคนในชุมชน โดยจัดเวทีนำเสนอปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อได้ข้อสรุปของโครงการและกิจกรรมที่มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการนำไปสู่การปฏิบัติหรือบรรลุผลสำเร็จ     
ระยะที่ 2 (กลางน้ำ)
        ประชุมทีมเพื่อวางแผน แบ่งงานและผู้รับผิดชอบ ติดต่อประสานงานผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดวันและเวลาในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ อย่างน้อย 2 ครั้ง จากนั้นดำเนินการตามแผน มีการประเมินผลท้ายกิจกรรมทุกครั้งเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น     
ระยะที่ 3 (ปลายน้ำ)
        ประเมินผลงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน จากนั้นคัดเลือก (Best Practice) พื้นที่ละ 1 – 3 คน โดยเป็นผู้ที่มีสามารถและมีความสมัครใจเป็นอาสาสมัครเพื่อเผยแพร่ความรู้ในระดับชุมชน

เนื้อหา ความรู้ และระดับทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้

        จากการสำรวจความรู้ ทักษะ และเจตคติของคนในชุมชนเกี่ยวกับการทำบัญชีพบว่า มีความรู้ความเข้าใจในการจดบันทึกบัญชีรับ-จ่าย เนื่องจากทุกคนเคยได้รับการสอนการทำบัญชีรับ-จ่าย ในโรงเรียนมาก่อนมานานมากแล้ว และปัจจุบันมีหน่วยงานราชการมาจัดอบรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การจดบันทึกไม่ได้มีความซับซ้อน จึงทำให้คนในชุมชนมีความรู้และทักษะในระดับมาก แต่ด้านเจตคติที่มีต่อการทำบันทึกบัญชีอยู่ในระดับน้อย ...เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่กล่าวว่า การทำบัญชีทำให้เห็นว่าตนเองและครอบครัวมีรายจ่ายมากขึ้นซึ่งสวนทางกับรายรับจึงรู้สึกท้อแท้ ประกอบกับคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรไม่ได้ทำการค้าขายหรือทำกิจการอะไรมากมายที่ต้องมีการทำบัญชี จึงทำให้ไม่ค่อยได้ทำบัญชีอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงกล่าวสรุปได้ว่า คนในชุมชนมีความรู้ความสามารถในการทำบันทึกบัญชีรับ-จ่ายเป็นอย่างดี เพียงแต่มีเจตคติเท่านั้นที่อยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ดังนั้นเพื่อกระตุ้นคนในชุมชนให้มีเจตคติที่ดีมากยิ่งขึ้น คณะดำเนินงานจึงจัดกิจกรรมการทบทวนความรู้เรื่องการทำบันทึกบัญชีรับ-จ่าย บนพื้นฐานตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และการใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ต้นทุนการประกอบอาชีพรวมถึงและการเขียนบันทึกบัญชีรับ-จ่าย เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถคิดวิเคราะห์ต้นทุนในการประกอบอาชีพหลัก/รอง และเสริมสร้างเจตคติหรือทัศนคติเชิงบวกของคนในชุมชนที่มีต่อการทำบัญชีรับ-จ่าย สำหรับสาระความรู้ที่ใช้ในการทบทวนให้แก่คนในชุมชน ประกอบด้วยเรื่องการกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการออม การวางแผนการเงินที่ชัดเจน การสร้างนิสัย-สร้างวินัยการเงิน และประโยชน์จากการทำบัญชีรายรับ – จ่าย โดยทางคณะดำเนินงานได้จัดทำ “คู่มือการทำบัญชีรับ-จ่าย ในครัวเรือนเพื่อใช้ในกิจกรรมการพัฒนาความรู้ภูมิปัญญาทางบัญชีสู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพ” เป็นหนังสือขนาดเล็กเหมาะกับการพกพา เนื้อหาในคู่มือมีความกระชับและมีขนาดตัวอักษรใหญ่ เพื่อให้มีความน่าอ่านมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้สอดแทรกหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยใช้เนื้อหาจากมูลนิธิชัยพัฒนา (www.chaipat.or.th) ประกอบด้วย ดังนี้ 1) ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ 2) ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ 3) การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง 2 ประการ ได้แก่ 1) เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ และ2) เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต แนวคิดการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริหรือพระบรมราโชวาทในด้านต่างๆ โดยทรงคำนึงถึงวิถีชีวิต สภาพสังคมของประชาชนด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในทางปฏิบัติได้ 1) ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต 2) ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต 3) ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่าง รุนแรง 4) ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ 5) ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา อาจกล่าวสรุปได้ว่า ความรู้เรื่องการทำบันทึกบัญชีรับ-จ่าย บนพื้นฐานตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงครั้งนี้ เป็นองค์ความรู้การทำบัญชีรับ-จ่าย ที่มีการใช้หลักการและแนวคิดเชิงบูรณาการระหว่างเศรษฐกิจชุมชนกับหลักพุทธธรรม เพื่อนำไปสู่ความสามารถในการลดต้นทุน เพิ่มรายได้/มูลค่า ในการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ในครัวเรือนหรือชุมชน จากฐานรากทรัพยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญาและความต้องการ รวมถึงจากองค์ความรู้ของงานวิจัยและนวัตกรรม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งกายใจ สติปัญญา สุขภาวะ อารมณ์และสังคม รักสถาบันหรือเกิดความสามัคคี จากการติดตามโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์คนในชุมชนซึ่งเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรม พบว่า คนในชุมชนมีความรู้ความสามารถทำบันทึกบัญชีรับจ่ายในระดับมากถึงมากที่สุด เนื่องจากทุกคนได้ผ่านการฝึกอบรมการทำบันทึกบัญชีรับ-จ่ายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานศึกษา (กศน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชน เช่น อสม. กรมบัญชีสหกรณ์ เป็นต้น ทำให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในการทำบัญชีทั้งด้านเขียนและการคิดวิเคราะห์ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามเกี่ยวกับความถี่ในการทำบันทึกบัญชีกลับพบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำบันทึกบัญชีต่อเนื่อง โดยทุกคนได้ให้เหตุผลที่มีความคล้ายคลึงว่า “เมื่อบันทึกรายจ่ายรายรับแล้ว เห็นว่ามีรายจ่ายมากขึ้นกว่ารายรับซึ่งมีสภาพคงที่หรือลดลง ในขณะรายจ่ายมีเพิ่มมากขึ้นเสมอ จึงทำให้รู้สึกท้อแท้ใจมาก ไม่มั่นใจในตนเองว่าจะสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ หรือเพิ่มกำไรได้” ในขณะที่หนึ่งในหกของผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า “แม้ว่าจะไม่ได้คิดวิเคราะห์ต้นทุน กำไร ส่วนตัวคิดถึงเรื่องการออมเงินเป็นทางออกในการเพิ่มทรัพย์สินมากกว่า และทุกวันนี้มีความคิดเรื่องการออมมากกว่าการลดต้นทุนค่ะ เพราะตนเองไม่ได้ลงทุนทำอะไร” นอกจากนี้ยังพบว่า คนในชุมชนที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ทั้งหมดเป็นเกษตรกร มีเจตคติต่อการทำบัญชีว่า “เป็นเรื่องของการค้าขาย หากใครทำการค้าขายต้องทำบันทึกบัญชีอย่างจริงจังจึงจะมีกำไรหรือมีประโยชน์มากที่สุด” อาจกล่าวสรุปได้ว่า คนในชุมชนมีเจตคติต่อความจำเป็นในการทำบันทึกบัญชีในระดับน้อย และมีความคิดเห็นว่าการทำบัญชีมีความสำคัญต่อการลดต้นทุน การเพิ่มรายได้ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความสำเร็จในการลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ในครัวเรือนหรือชุมชน ด้านความสามารถในการถ่ายทอดพบว่า คนในชุมชนสามารถสอนการทำบันทึกบัญชีรับ-จ่ายให้แก่ผู้อื่นได้ แม้ว่าสามในหกผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า “มีความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเองว่าจะสามารถสอนผู้อื่นให้มีความเข้าใจการทำบันทึกบัญชีรับ-จ่าย การคิดวิเคราะห์ต้นทุน กำไร ได้หรือไม่” ประการสุดท้าย คนในชุมชนได้กล่าวยืนยันว่าการทำบันทึกบัญชีมีประโยชน์มาก เพราะช่วยทำให้เห็นการใช้จ่ายจริง และช่วยให้ตนเองสามารถออมเงินได้ แม้ว่าจะออมเงินได้ไม่มากแต่ก็มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความมั่นใจในการเงินของตนเองมากขึ้นและจะออมเงินต่อไป ดังนั้นจึงเห็นด้วยว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการทำบันทึกบัญชีรับ-จ่าย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้จ่าย เพียงแต่ต้องเสริมสร้างเจตคติเชิงบวกมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์ที่ได้รับ

    (ผู้รับความรู้จะทำอะไรเป็น หรือประยุกต์ใช้งานอะไรและได้ในระดับใด เพื่อการเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย)
7.1 ผู้เข้ารับการอบรมได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมประเมินตนเองเกี่ยวกับภูมิปัญญาทางบัญชี สู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพหลัก/รอง บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
7.2 ผู้เข้ารับการอบรมได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับความรู้ภูมิปัญญาทางบัญชี สู่การลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพหลัก/รอง บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ตรงกับความต้องการ เพื่อเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์และการวางแผนการลดต้นทุนบัญชีในการประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้อง และประสบความสำเร็จ
7.3 ผู้เข้ารับการอบรมมีทัศนคติที่ดีต่อการทำบัญชี หรือการเขียนบันทึกรับ-จ่าย และอาจคิดทำบัญชีเชิงสร้างสรรค์ได้
7.4 ผู้เข้ารับการอบรมมีความภาคภูมิใจและมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสมเพื่อลดอคติต่อกันจนเกิดความรักสามัคคี รวมถึงมีการรับรู้ถึงความห่วงใยจากสถาบันที่มีต่อชุมชน

1 2 3 4 5 6